ประเพณีแห่ปลา พระประแดง
การแห่ปลา จัดอยู่ในงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง เรียกกันว่า “งานสงกรานต์ปากลัด” เป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ชาวไทยรามัญได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จะจัดหลังจากวันสงกรานต์ไทยไปหนึ่งอาทิตย์ จุดเด่นอีกประการ คือ การมีขบวนแห่นางสงกรานต์พร้อมด้วย “ขบวนแห่นก-แห่ปลา” ที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา และเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่มีใครเหมือนอย่างแน่นอน
และชาวบ้านจะแต่งกายชุดไทยรามัญไปทำบุญตามวัดต่าง ๆ และมีการ ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่น “สะบ้ารามัญ” และ “สะบ้าทอย” ที่ชาวรามัญพระประแดงได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานจัดมาแสดงตามหมู่บ้านมอญ และวัดมอญต่างๆในเขตเทศบาลเมืองพระประแดงอีกด้วย ประเพณีแห่ปลาในปัจจุบันถือว่าเป็นที่รู้จักทั้งหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ในแต่ละปีจะมีคนหลั่งไหล มาชมไม่ต่ำกว่าปีละห้าหมื่นคน
ความเป็นมาของประเพณีแห่ปลา
ความเป็นมาของประเพณีนี้ก็สืบเนื่องมาจากตำนานของมอญที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีพระอาจารย์องค์หนึ่งมีลูกศิษย์อยู่หลายคน พระอาจารย์องค์นี้มีความเชี่ยวชาญในการทำนายโชคชะตาเป็นยิ่ง วันหนึ่งพระอาจารย์ได้ตรวจดูดวงชะตาของลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ ปรากฏว่าสามเณรองค์นั้นอยู่ในเกณฑ์ชะตาขาด จะต้องถึงแก่ความตายในไม่ช้า พระอาจารย์มีความสงสารเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่อาจจะช่วยเหลือได้ จึงบอกให้สามเณรกลับไปเยี่ยมญาติโยมที่บ้านเพื่อที่จะได้มีโอกาสพบปะกันก่อนตาย
สามเณรเข้าอำลาพระอาจารย์แล้วเดินทางกลับไปบ้าน ระหว่างทางเดินผ่านไปตามทุ่งนาจนถึงหนองน้ำแห่งหนึ่งน้ำแห้งขอด มีปลาตกปลักจมอยู่ในโคลนรังแต่จะรอความตาย สามเณรเกิดความสงสารจึงได้จับปลาไปปล่อยในลำคลองแล้วเดินทางต่อไปจนถึงบ้าน เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วก็เดินทางกลับวัด ฝ่าย พระอาจารย์เมื่อเห็นสามเณรกลับมาก็แปลกใจเพราะยังเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองอยู่จึงสอบถามจนได้ความว่าขณะที่เดินทางกลับบ้านนั้นได้ช่วยเหลือปลาที่รอความตายให้กลับมีชีวิตยืนยาวต่อไป พระอาจารย์จึงเข้าใจว่ากุศลที่สามเณรสร้างในครั้งนี้กลับเป็นผลานิสงส์หนุนนำให้สามเณรมีชีวิตยืนยาวต่อไป จากตำนานดังกล่าวทำให้ชาวรามัญยึดถือเป็นตัวอย่างและปฏิบัติกันอยู่เสมอมา ส่วนประเพณีแห่นกที่ทำควบคู่กับแห่ปลาในปัจจุบันนั้นพึ่งเกิดขึ้นภายหลัง
ของดีเมืองพระประแดง
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงแสง สี ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้าชมการแสดงดนตรีไทย จากศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพระประแดง และการกวน กวันฮะกอ หรือ กาละแม ของดีเมืองพระประแดงอีกด้วย หากใครมีโอกาสเดินทางมาเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการบอกเลยห้ามพลาดค่ะ >>> ดูที่เที่ยวสมุทรปราการอื่นๆ เพิ่มเติม
การเดินทาง
สถานที่จัดงาน : การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2567 และ 19-21 เมษายน 2567 ณ วัดกลางสวน และที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
การเดินทาง : https://maps.app.goo.gl/P1wX8uXnzbPbicP8A